วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พระมหาชนก ชาติที่ ๒

พระมหาชนก พระเจ้าแผ่นดิน ณ เมืองมิถิลาแห่งวิเทหะรัฐ ทรงมีพระโอรสสององค์ คือ พระอริฏฐชนก และ พระโปลชนก เมื่อพระราชบิดาสวรรคต พระอริฏฐชนกผู้เป็นอุปราช ก็ได้ครองบ้านเมืองต่อมา พระโปลชนกทรงเป็นอุปราช ครั้งนั้นยังมีอำมาตย์ออกอุบายให้พระอริฏฐชนกระแวงพระอนุชาว่า พระโปลชนกคิดขบถ พระราชาทรงเชื่ออำมาตย์ จึงให้จับพระโปลชนกไปขังไว้ ด้วยบุญบารมีของพระโปลชนกจึงสามารถเสด็จหนีไปยังชายแดน ผู้คนจำนวนมากพร้อมที่จะเข้าเป็นพวกด้วย เมื่อถึงกาลที่เอื้อ พระโปลชนกก็นำกองทัพไปตีเมืองมิถิลา บรรดาทหารแห่งเมืองมิถิลาพากันเข้ากับพระโปลชนกอีกเป็นจำนวนมากด้วยเห็นใจ ที่พระโปลชนกถูกจับไปขังไว้โดยไม่ยุติธรรม
พระ พระอริฏฐชนกจึงตรัสสั่งพระมเหสีซึ่งกำลังทรงครรภ์แก่ ให้ทรงหลบหนี เอาตัวรอด ส่วนพระองค์เองทรงออกทำสงคราม และสิ้นพระชนม์ในสนามรบ พระโปลชนกจึงทรงได้เป็นกษัตริย์ ครองเมืองมิถิลาสืบต่อมา ฝ่ายพระมเหสีของพระพระอริฏฐชนก เสด็จหนีไปอยู่เมือง กาลจัมปากะ พระอินทร์จึงเสด็จมาช่วย ทรงแปลงกายเป็นชายชราขับเกวียนมา พาเสด็จไปนั่งพักอยู่ในศาลาแห่งหนึ่งในเมืองนั้น บังเอิญอุทิจจพราหมณ์มหาศาลเดินผ่านมา เกิดความเอ็นดูสงสาร จึงรับพระนางไปอยู่ด้วย อุปการะเลี้ยงดูพระนางเหมือนเป็นน้องสาว ไม่นานนัก พระนางก็ประสูติพระโอรส ทรงตั้งพระนามว่า มหาชนกกุมาร ซึ่งเป็นพระนามของพระอัยกา วันหนึ่ง มหาชนกกุมารชกต่อยกับเพื่อนเล่นเนื่องจากถูกเด็กล้อเลียนว่าเป็นลูกไม่มีพ่อ มหาชนกพยายามสืบความจริง พระมารดาจึงตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดให้พระโอรสทราบ ก็ทรงตั้งพระทัยว่าจะได้เสด็จไปเอาราชสมบัติเมืองมิถิลาคืนมา
พระมารดาจึงทรงนำเอาทรัพย์สินมีค่ามาจากมิถิลา 3 สิ่ง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้ววิเชียร เพื่อเป็นทุนล่องเรือไปค้าขายที่สุวรรณภูมิ ในระหว่างทางเกิดพายุใหญ่ โหมกระหน่ำ ฝ่ายมหาชนกกุมาร เมื่อทรงทราบว่าเรือจะจมแน่แล้ว ก็เสวยอาหารจนอิ่มหนำ ทรงนำผ้ามาชุบน้ำมันจนชุ่ม แล้วนุ่งผ้านั้นอย่างแน่นหนา ครั้นเมื่อเรือจมลง เหล่าพ่อค้ากลาสี เรือทั้งปวงก็จมน้ำ ส่วนพระมหาชนกทรงแหวกว่าย อยู่ในทะเลถึง 7 วัน นางมณีเมขลา เทพธิดาผู้รักษามหาสมุทร เห็นพระมหาชนก ว่ายน้ำอยู่เช่นนั้น จึงสนทนาแลกเปลี่ยนกัน จนนางมณีเมขลาเข้าใจในปรัชญาของการบำเพ็ญวิริยบารมี นางมณีเมขลาจึงช่วยอุ้มพามหาชนกกุมาร ไปจนถึงฝั่งเมืองมิถิลา ฝ่ายพระโปลชนกไม่มีพระโอรส ทรงมีแต่พระธิดาพระนามว่า สิวลี ในเมื่อไม่ทรงมีพระโอรส พระโปลชนก ตรัสสั่งอมาตย์ว่า ผู้ใดสามารถไขปริศนาขุมทรัพย์ได้ก็ยกบ้านเมืองให้แก่ผู้นั้น ในที่สุดบรรดาเสนาข้าราชบริพารจึงตั้งพิธีเสี่ยงราชรถ ราชรถหยุดอยู่หน้าศาลาที่พระมหาชนกประทับอยู่ ทรงไขปริศนาได้หมด ผู้คนจึงพากันสรรเสริญปัญญาของพระมหาชนก พระองค์ได้ครองวิเทหรัฐด้วยความผาสุกตลอดมาด้วยทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ต่อมาพระนางสิวลีประสูติพระโอรส ทรงนามว่า ทีฆาวุกุมาร เมื่อเจริญวัยขึ้น พระบิดาโปรดให้ดำรงตำแหน่งอุปราช อยู่มาวันหนึ่ง พระราชามหาชนกเสด็จอุทยานทอดพระเนตร เห็นมะม่วงต้นหนึ่งมีผล ต้นหนึ่งไม่มีผล ต้นที่มีผล ผลมีรสชาติอร่อย ตรัสชมแล้วตั้งใจจะเสวยเมื่ออกจากพระราชอุทยาน แต่เมื่ออกมาต้นมีผลก็เสียหายจนหมดเพราะผู้คนพากันโค่นเพื่อเอาผลมะม่วง ส่วนต้นไม่มีผลยังอยู่รอดได้ พระมหาชนกทรงคิดว่า ราชสมบัติ เปรียบเหมือนต้นไม้มีผลอาจถูกทำลาย แม้ไม่ถูกทำลายก็ต้องคอย ระแวดระวังรักษา เกิดความกังวล พระองค์ประสงค์จะทำตนเป็นผู้ไม่มีกังวลเหมือนต้นไม้ไม่มีผล แต่ก็ไม่ทรงทำเช่นนั้นเพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ของพระราชาที่จะทำให้สังคมอยู่ รอดพ้นก่อน เพราะสังคมยังขาดสติปัญญาเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้าจึงทำลายต้นมะม่วงมีผล คิดดังนั้นจึงเห็นควรทำนุบำรงต้นมะม่วงด้วยหลักวิชาการทางการเกษตร และจัดตั้งสถานศึกษาชื่อ ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย เพื่อให้คนเป็นคนดีมีสติปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น